เจ้าของกิจการหรือนายจ้างไม่ยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้าง ถือว่าผิดกฎหมายภายใต้ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำลูกจ้างที่เข้าเกณฑ์ประกันสังคมเข้าระบบและส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ตามที่กำหนด หากไม่ยื่นประกันสังคมจะส่งผลเสียทั้งต่อลูกจ้างและทำให้นายจ้างต้องรับโทษตามกฎหมาย
ประกันสังคมได้กำหนดไว้ว่า “นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนด้วยกับทางประกันสังคม โดยต้องขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่มีการจ้างงาน เมื่อมีการจ้างลูกจ้างใหม่ก็จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายในกำหนด 30 วัน และเมื่อมีลูกจ้างลาออกไปนายจ้างก็มีหน้าที่ต้องแจ้งเอาชื่อลูกจ้างออกจากประกันสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยต้องระบุสาเหตุของการออกจากงาน ต้องแจ้งภายใน 15 วันของเดือนถัดไปหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคม”
กรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด เช่น ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคม ภายในวันที่ 15 เมษายน แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ในวันที่ 30 เมษายน ดังนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)
กรณีนายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของเงินสมทบที่จ่ายขาด
ที่มา : พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533