ในหนึ่งปีปฏิทิน ต่างก็มีวันหยุดนักขัตฤกษ์มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นวันสำคัญในโอกาสที่แตกต่างกันไป แต่มีอยู่หนึ่งวันหยุดที่ถือว่ามีความสำคัญโดยตรงกับมนุษย์เงินเดือนอย่างแท้จริง นั่นก็คือ “วันแรงงาน” ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปเรียนรู้ถึงประวัติของวันแรงงาน พร้อมด้วยที่มาและความสำคัญ

 

 158829841228.jpg

 

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า “วันแรงงานแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งในต่างประเทศนั้น มีวันแรงงานแห่งชาติมานานแล้ว เรียกว่า วันเมย์เดย์ (May Day) โดยวันนี้ถือเป็นฤกษ์งามยามดี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลแห่งเกษตรกรรม จึงได้มีพิธีเฉลิมฉลองและบวงสรวง ขอให้พืชผลเจริญงอกงาม  ออกดอกออกผลได้สมบูรณ์ และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีความสุข ซึ่งประเพณีนี้ ได้มีการสืบทอดต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน

 

ในประเทศไทยเอง เมื่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ขยายตัว ผู้ใช้แรงงานมีมากขึ้น รวมถึงปัญหาแรงงานก็มีตามมา ทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน รวมถึงคุ้มครองดูแลสภาพการทำงานของผู้ใช้แรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และต่อมาในปี พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมและมีความเห็นตรงกันว่า ควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัน แรงงานแห่งชาติ และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาตินี้ได้

 

ในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

 

“วันแรงงานแห่งชาติ” จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง


สำหรับ วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดทางราชการ ฉะนั้น หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงานแห่งชาติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น



ที่มา : https://www.mol.go.th

โพสต์โดย
โพสต์โดย
Account Executive
“เนย” Sales ผู้มีใจรักในงานขาย ใช้ชีวิตอยู่กับงานขายมาตลอด ดูแลลูกค้าประดุจญาติมิตร ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สนุกกับการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ และ รักสุขภาพอีกด้วย